เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. รตนจังกมนกัณฑ์
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตที่จงกรมแก้ว
[1] ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก
ได้ประนมมือทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค
ผู้ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย1มีอยู่ในโลกนี้
ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด
พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก เป็นผู้สูงสุดแห่งนระ
อันหมู่พรหมประนมมือทูลอาราธนาว่า
‘สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นปราชญ์ มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ในโลกนี้
ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม ขอพระองค์โปรดแสดงอมตบท
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเถิด’
[2] พระตถาคต ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ2 ผู้คงที่

เชิงอรรถ :
1 ธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาคือปัญญาเบาบาง (ขุ.พุทฺธ.อ. 1/18)
2 วิชชา หมายถึงวิชชา 3 และวิชชา 8, จรณะ หมายถึงจรณะ 15 (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/20-21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :553 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 1. รตนจังกมนกัณฑ์
ผู้ทรงความรุ่งเรือง ทรงไว้ซึ่งพระวรกายครั้งสุดท้าย
ทรงเกิดความกรุณาในสรรพสัตว์
พระผู้มีพระภาค ผู้ศาสดา
ทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
‘พรหม สัตว์เหล่าใดผู้มีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น
เพราะเรารู้สำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีต
คล่องแคล่วในหมู่มนุษย์‘1
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐกว่ามุนี
เมื่อจะทรงอนุเคราะห์เหล่าเวไนยสัตว์2
จึงเสด็จออกจากโคนต้นอชปาลนิโครธ
เสด็จถึงกรุงพาราณสี โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนบัลลังก์ที่ประเสริฐนั้น
และทรงประกาศพระธรรมจักร
คือทุกขสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ
และมรรคสัจ อันสูงสุด แก่ปัญจวัคคีย์
ในกาลนั้น พระผู้พระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรนั้นแล้ว
ฤาษีปัญจวัคคีย์เหล่านั้น พร้อมด้วยหมู่พรหม
และเทวดาประมาณ 18 โกฏิ
ได้บรรลุธรรมในการประชุมครั้งแรก
สมัยต่อมาฤาษีปัญจวัคคีย์ทั้งหมด
คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

เชิงอรรถ :
1 ม.มู. (แปล) 12/283/308 และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/9/15, ที.ม. (แปล) 10/71/41, สํ.ส. (แปล)
15/172/232.
2 เวไนยสัตว์ หมายถึงเหล่าสัตว์ที่จะแนะนำให้บรรลุอรหัตตมรรคได้ (ขุ.อป.อ. 2/99/315)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :554 }